ธุรกิจในรูปแบบร้านค้าของชำหรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อร้าน “โชห่วย” เป็นอีกหนึ่งสายธุรกิจที่มีความเก่าแก่มากที่สุดของเมืองไทย ซึ่งในอดีตการเปิดร้านขายของจิปาถะประเภทนี้ถือว่าได้รับความนิยมมากจากทั้งทางฝั่งผู้ประกอบการและฟากของผู้บริโภค เพราะเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ทั้งยังมีสินค้าให้เลือกมากมายตั้งแต่ขนมเด็กยันถึงเครื่องพริกแกง แต่ในปัจจุบันใครจะไปเชื่อว่าธุรกิจร้านขายของชำที่เคยเป็นที่นิยมอยู่ในภาวะวิกฤตเข้าไปทุกที่ สาเหตุก็คงเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดมาจากการโดนร้านสะดวกซื้อและร้านค้าที่มีรูปแบบดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ทั้งจากแบรนด์ของไทยและต่างชาติเข้ามาตีตลาดจนแตกกระเจิง ซึ่งทางรอดที่เหล่าเถ้าแก่สามารถงัดขึ้นมาใช้ในเวลานี้ได้ก็คือการปรับตัวและเริ่มทำธุรกิจอย่างมีแบบแผน
โดยมีเทคนิคดังต่อไปนี้
การบริหารอย่างมีขั้นตอนเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการร้านโชห่วยจำเป็นต้องทำถ้าคิดจะปฏิวัติธุรกิจของตนให้สามารถสู้กับคู่แข่งได้ เพราะการทำแบบเดิมๆที่รอให้คนมาซื้อสินค้าไปวันๆโดยแนวทางการบริหารที่จะขอแนะนำคือให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การจัดการและการทำการตลาด ยกตัวอย่าง การจัดการในเรื่องของบัญชีและคลังสินค้า ผู้ประกอบการควรรู้ว่าจำเป็นต้องสั่งสินค้าเข้าร้านมากเท่าไหร่ ในเวลาไหนและสุดท้ายจะได้กำไรเป็นเงินเท่าไหร่ ส่วนในเรื่องของการตลาดผู้ประกอบการก็อาจใช้วิธีจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้าให้เข้าร้านก็ได้
เรื่องเงินทุนเป็นอีกหนึ่งข้อที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไปมีเงินทุนที่ไม่จำกัดอันเกิดจากการสนับสนุนของบริษัทแม่แตกต่างจากร้านโชห่วยที่้ต้องอาศัยทุนตัวเองหรือไม่ก็กู้ยืมจากแหล่งการเงินต่างๆซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีที่ดีที่สุดคือผู้ประกอบการต้องมีเงินทุนสำรองเอาไว้ภายในระบบบัญชีของทางร้านบ้างไม่ใช่ตัดเอาเข้าบัญชีออมทรัพย์ของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว การแยกแยะบัญชีส่วนตัวและของบริษัทออกจากกันจะได้บริหารจัดการเงินได้ง่ายขึ้น โดยวิธีนี้จะทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนในร้านมีมากขึ้นซึ่งเงินที่ได้มาจะสามารถเอาไปใช้ส่งเสริมกิจการภายในร้านได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการสั่งสินค้า หรือตกแต่งร้าน เป็นต้น
เนื่องจากพนักงานของร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่กินเงินเดือนประจำจึงทำให้บางคนขาดจิตสำนึกในเรื่องงานบริการเพราะต่างคิดว่ากิจการไม่ใช่ของตนจึงไม่ต้องใส่ใจบ้างก็บริการแบบเป็นหุ่นยนต์ขาดชีวิตชีวา ซึ่งนั่นก็คือข้อได้เปรียบที่ผู้ประกอบการมีเหนือกว่าร้านค้าคู่แข่ง ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องหมั่นพูดคุยผูกมิตรกับลูกค้าเพื่อสร้างความสนิทสนมซึ่งเรื่องนี้จะสร้างความภักดีให้กับลูกค้าและแปรเปลี่ยนมาเป็นฐานธุรกิจที่สนับสนุนกิจการของร้านในที่สุด
ผู้ประกอบการควรจัดแต่งหน้าร้านให้ดูเตะตา และสะอาดสะอ้านมากยิ่งขึ้น อาจใช้วิธีเพิ่มชั้นวางเพื่อใช้สำหรับวางสินค้า และมีเคาน์เตอร์สำหรับคิดเงินแยกเป็นสัดส่วน อาจจะติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ที่สำคัญร้านค้าของท่านต้องเน้นไปที่ความสะอาดเป็นหลักเข้าไว้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจติดกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยและพิทักษ์ผลประโยชน์ภายในร้านในระยะยาวด้วยก็ได้
การการันตีสินค้าถือเป็นวิธีช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งแก่ร้านค้า ผู้ประกอบการควรตรวจสอบสินค้าในร้านของท่านให้ดีว่าได้มาตรฐานหรือไม่ โดยดูจากตราสินค้า เครื่องหมายทดลองใช้สินค้าในร้านก่อนเพื่อที่ว่าจะได้แนะนำสินค้าให้ลูกค้าได้ ผู้ประกอบการจึงควรหมั่นตรวจสอบสินค้าในร้านให้ดีว่ามีสินค้าที่ชำรุดหรือหมดอายุปะปนอยู่หรือไม่ หรือถ้าเกิดสุดวิสัยจริงๆและมีลูกค้ามาร้องเรียนก็ควรเปลี่ยนหรือคืนเงินให้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจของท่านสามารถเอาชนะใจลูกค้าได้และร้านสะดวกซื้อไม่มีทางจะลอกเลียนแบบได้อย่างแน่นอน
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ร้านสะดวกซื้อไม่มีทางทำได้ นั่นก็คือ การนำสินค้ามาแบ่งขาย เพราะต้องเข้าใจในความเป็นจริงที่ว่าส่วนใหญ่ผู้บริโภคใช้สินค้าเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นไม่ได้ต้องการใช้สินค้าทั้งหมดแต่ก็ต้องถูกบังคับด้วยรูปแบบหีบห่อ ตรงข้ามกับผู้ประกอบการร้านโชห่วยที่สามารถนำสินค้ามาแกะซองออกแล้วแบ่งขายได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและยังสามารถแย่งชิงฐานลูกค้าจากร้านสะดวกซื้อได้อีกด้วย ตัวอย่างสินค้าที่สามารถนำมาแบ่งขายได้แก่ น้ำตาล เกลือ น้ำตาลปีบ กาแฟซอง บุหรี่ เป็นต้น
สินค้าบางชนิดก็ไม่สมารถวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆประการ จึงถือเป็นโอกาสดีๆที่ผู้ประกอบการต้องรีบคว้าเอาไว้ โดยต้องค้นหาความต้องการสินค้าบางตัวที่ผู้บริโภคอยากจะได้แต่ร้านสะดวกซื้อไม่มีขายนำมาวางจำหน่ายแทน เช่น อาหารแห้ง ขนมโบราณ ของเล่นเด็ก เครื่องแกง กุ้งแห้ง กะปิ น้ำตาลปีบ เป็นต้น
ร้านสะดวกซื้อมีข้อจำกัดอีกอย่างตรงที่ไม่สามารถลดราคาให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อของภายในร้านได้อันเนื่องจากรูปแบบการทำงานขององค์กรและระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีนี้ในการเรียกลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าที่ร้านของท่านได้ โดยใช้ความมีน้ำใจลดราคาแบบปัดเศษให้กับลูกค้า ตัวอย่างเช่น ลูกค้าซื้อสินค้าในร้านเป็นจำนวนมากเมื่อคิดเงินออกมาแล้วมียอดอยู่ที่ 343 บาท ท่านอาจปัดเศษให้กับเขาได้โดยคิดราคาเพียงแค่ 340 บาทเท่านั้น เป็นต้น
ตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือที่รู้จักกันดีในนามยี่ปั้ว-ซาปั้ว ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องเอาใจใส่พวกเขาให้มากเป็นพิเศษ เพราะบรรดาตัวแทนจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ถือเป็นผู้ควบคุมต้นทุนส่วนหนึ่งของธุรกิจผู้ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองฝ่ายจะช่วยให้ร้านของผู้ประกอบการมีต้นทุนสินค้าที่ถูกลงและมีผลกำไรมากขึ้น ทั้งยังอาจได้ประโยชน์ในเรื่องเครดิตอีกด้วย